เสด็จลี้ภัยและสละราชสมบัติ ของ สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยียม

ทรงถูกเนรเทศและลี้ภัย

ในปีค.ศ. 1944 ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส ได้สั่งการให้เนรเทศพระองค์ไปยังเยอรมนี โดยเจ้าหญิงลิเลียนตามเสด็จพร้อมครอบครัวบนรถพระที่นั่งอีกคันหนึ่งภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของหน่วยรักษาความปลอดภัยชุทซ์ชทัฟเฟิล นาซีได้คุมขังพระองค์ไว้ในป้อมปราการแห่งหนึ่งในเมืองฮีรชไตน์ในรัฐซัคเซินเป็นเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 จนถึงมีนาคม ค.ศ. 1945 และต่อมาได้ย้ายไปที่ชโตรเบิล ประเทศออสเตรีย

รัฐบาลอังกฤษ และอเมริกันได้แสดงความเป็นห่วงถึงการกลับมาของพระองค์ ชาลส์ ซอว์เยอร์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศเบลเยียม ได้เตือนรัฐบาลอเมริกันว่าภายหลังจากการกลับมาของพระองค์จะ "สร้างความยุ่งยากมากขึ้น" "ท่ามกลางความแตกต่างภายในพระราชวงศ์ และสถานการณ์นี้เป็นเสมือนระเบิดเวลาสำหรับเบลเยียม และอาจจะยุโรปด้วย"[13] "กระทรวงการต่างประเทศกลัวว่าการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในเขตวัลลูนนั้นจะเรียกร้องอิสรภาพและปกครองตนเอง หรือไม่ก็รวมดินแดนกับฝรั่งเศส ซึ่งฯพณฯวีแนนท์ เอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนต์เจมส์ ได้รายงานมาทางกระทรวงถึงความกังวลที่เกี่ยวเนื่องมาจากการโฆษณาชวนเชื่อกระแสคลั่งชาติในเขตวัลลูน"[14] และ "เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงบรัสเซลส์... ยังเชื่อได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยกระแสโฆษณาชวนเชื่อนี้"[15]

สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ถูกปลดปล่อยจากที่คุมขังโดยกองพันทหารม้าที่ 106 ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945 เนื่องจากข้อกังขาของสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำในระหว่างสงคราม พระองค์และพระราชินี รวมถึงพระราชโอรสและธิดานั้นไม่สามารถนิวัติกลับเบลเยียมได้ และใช้เวลาลี้ภัยนานถึงหกปีในเมืองเพรญี-ช็องเบซี ใกล้กับกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญในฐานะของประมุข ได้ถูกผ่านให้กับพระราชอนุชาของพระองค์ เจ้าชายชาลส์แห่งเบลเยียม เคานท์แห่งฟลานเดอร์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความเห็นชอบของรัฐสภาตั้งแต่ปีค.ศ. 1944

การต่อต้านการเสด็จนิวัติกลับพระนคร

แวน เดน ดันเจิน อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งบรัสเซลส์ (Université Libre de Bruxelles) ได้เขียนบันทึกส่งถึงพระองค์เมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1945 มีใจความเกี่ยวกับความวุ่นวายในเขตวัลลูน "คำถามนั้นไม่ใช่ว่าข้อกล่าวหาต่อทูลกระหม่อมจะถูกต้องหรือไม่ (เกรงแต่ว่า...) ทูลกระหม่อมมิได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของเบลเยียมอีกต่อไปเสียแล้ว"[16]

กีญง ประธานวุฒิสภาเบลเยียม ได้กราบทูลฯ ทราบว่ามีความเป็นไปได้ถึงความไม่สงบอย่างรุนแรง "หากมีเพียงสิบหรือยี่สิบคนที่ถูกฆ่าตายแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบครั้งนี้จะกลายเป็นความตกต่ำสำหรับองค์พระมหากษัตริย์" [17]

ฟรานซ์ แวน คอเวลลาร์ท ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความห่วงใยว่าจะเกิดการนัดหยุดงานทั่วไปในเขตวัลลูน และกบฏในลีแยฌ เขาได้เขียนว่า "ประเทศแห่งนี้ไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหาความสงบได้อย่างเรียบร้อยเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนกองกำลังตำรวจและการขาดแคลนอาวุธ"[18]

ในปีค.ศ. 1946 คณะกรรมการตรวจสอบได้เห็นชอบให้พระองค์พ้นข้อกล่าวหากบฏต่อแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม คำถามเกี่ยวกับพระองค์ยังคงดำเนินต่อไป และจนกระทั่งปีค.ศ. 1950 ได้มีการลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ซึ่งผลปรากฏว่า ร้อยละ 57 ของผู้มีสิทธิทั้งหมดเห็นชอบต่อการกลับมาของพระองค์ ซึ่งการแบ่งแยกระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านพระองค์นั้นแบ่งตามเขตด้วย (ซึ่งฝ่ายสังคมนิยม และวัลลูนนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ- เพียงร้อยละ 42 ของชาววัลลูนที่เห็นชอบ) ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์คริสเตียน และฟลานเดอร์นั้นเป็นฝ่ายสนับสนุนพระองค์ (ร้อยละ 70 เห็นชอบในฝั่งฟลานเดอร์)

ใกล้เคียง